Ikigai คืออะไร
Ikigai เป็นคำภาษาญี่ปุ่น มาจากคำ 2 คำคือ Iki ซึ่งมาจากคำเต็มว่า Ikiru (อิคิรึ) แปลว่า ชีวิต (Life) และคำว่า Gai ซึ่งแปลว่า คุณค่า (Worth/Value) ดังนั้นคำว่า Ikigai จึงแปลว่า คุณค่าของชีวิต ซึ่งก็มีคนให้ความหมายกันในหลากหลายรูปแบบ แต่ก็มีความคล้ายคลึงกัน เช่น คุณค่าของการมีชีวิตอยู่ เหตุผลของการมีชีวิต จุดมุ่งหมายของชีวิต สิ่งที่ทำให้ชีวิตมีคุณค่า รวมไปถึง เหตุผลที่ทำให้เราตื่นขึ้นมาตอนเช้าเพื่อทำสิ่งที่ชอบ
มีงานศึกษาหลายๆ แห่งบอกว่า คนที่ใช้ชีวิตโดยมี Ikigai จะเป็นคนที่มีความหวัง (Hope) ในชีวิต ส่งผลให้มีพลังงานในทางบวก มองโลกในแง่ดี และใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข (Happy) เพราะได้ใช้ชีวิตอย่างที่ต้องการ ได้ทำในสิ่งที่ชอบ เป็นสิ่งที่มีคุณค่าและมีความหมาย เป็นประโยชน์ทั้งกับตนเอง และกับผู้อื่น ดังนั้น จะเป็นคนที่มีสุขภาพที่ดี (Health) มีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบตัว (Harmony) รวมไปถึงมีงานวิจัยที่บอกว่า Ikigai เป็นปัจจัยหนึ่งที่จะทำให้คนเรามีอายุยืนอีกด้วย
Ikigai เกิดขึ้นได้ในหลากหลายรูปแบบ ทั้งในรูปของตัวบุคคล ครอบครัว กิจกรรม งานอดิเรก อาชีพ องค์กร ความสำเร็จ เป้าหมายในอนาคต หรือความทรงจำที่ดีในอดีต รวมไปถึงความภาคภูมิในสภาพปัจจุบัน ดังนั้น Ikigai ของแต่ละคนก็จะแตกต่างกันไป ตามความเชื่อ คุณค่าที่ยึดถือ ประสบการณ์ ทรัพยากรที่มี สภาพแวดล้อม และความต้องการที่แท้จริงของแต่ละคน นอกจากนั้น ในชีวิตคนเรา อาจจะมี Ikigai ได้มากกว่าหนึ่งเรื่องก็ได้
ทั้งนี้ Ikigai ไม่จำเป็นจะต้องเป็นอาชีพหรือเป็นงานที่ทำเท่านั้น รวมถึงไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดรายได้เสมอ ดังนั้น หากเราค้นพบสิ่งที่ทำให้เรามีความสุข มีเหตุผลที่ทำให้เราอยากมีชีวิตอยู่ต่อไป และสิ่งที่ทำนั้นมีคุณค่ามีความหมาย ถึงจะไม่ทำให้เกิดผลตอบแทนในรูปของเงินจากสิ่งนั้น ก็ถือเป็น Ikigai ได้เช่นกัน เพราะผลตอบแทนที่ได้จากการทำในสิ่งที่เป็น Ikigai คือ ความภูมิใจในตนเอง การรับรู้ถึงคุณค่าที่ตัวเองมีต่อตัวเองและต่อผู้อื่น
หลักการที่สำคัญของ Ikigai จึงอยู่ที่ 3 ส่วน ประกอบด้วย
ส่วนแรก คือการค้นหาสิ่งที่เป็นความปรารถนาของเราที่ต้องการทำให้เกิดขึ้น เป็นสิ่งที่เรารัก เราชอบ และทำให้เรามีความสุข เป็นสิ่งที่เมื่อเราได้ทำแล้ว เราจะมีสภาวะที่เพลิดเพลิน ไหลลื่น ได้อยู่กับตัวเอง มีสมาธิ และความอิ่มเอมใจ รวมถึงเป็นสิ่งที่เมื่อเรานึกถึงก็ยังมีรอยยิ้ม และมีความสุขได้ตลอดเวลา
ส่วนที่สอง สิ่งนั้นจะต้องมีคุณค่า และความหมาย สร้างให้เกิดประโยชน์กับตนเอง หรือกับผู้อื่น หรือกับสิ่งแวดล้อม ธรรมชาติ และโลกใบนี้ เป็นความภาคภูมิใจที่ได้ทำสิ่งนั้น สิ่งที่ทำจะต้องมีความสมดุล ไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับคนอื่น หรือไปทำร้ายคนอื่น ไม่ทำให้สิ่งแวดล้อมหรือธรรมชาติ หรือโลกเกิดความเสียหาย ไม่ทำให้เกิดสุขในวันนี้แต่กลายเป็นความทุกข์ในวันข้างหน้า
และส่วนที่สาม เป็นการลงมือทำอย่างต่อเนื่อด้วยความมุ่งมั่น ใส่ใจและศรัทธาในสิ่งที่ทำ โดยอาจจะเริ่มจากการทำในสิ่งเล็กๆ ค่อยๆ เรียนรู้ การดำรงอยู่กับปัจจุบัน และพัฒนาจนกลายเป็นความสามารถ กลายเป็นความเก่ง เป็นจุดแข็งของเรา เป็นสิ่งที่เราทำได้ดี ซึ่งจะส่งผลให้คุณค่าที่ส่งมอบมีมากขึ้นด้วย
ในส่วนที่สามนี้ จริงๆ แล้วมีความสอดคล้องกับหลักพุทธศาสนาที่พูดถึงการทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้สำเร็จนั้นจะต้องมีธรรม อิทธิบาท 4 นั่นคือ ฉันทะ (มีใจรัก) วิริยะ (พากเพียรทำ) จิตตะ (มีจิตใจจดจ่อ) และ วิมังสา (วินิจฉัยใฝ่เรียนรู้)
หากเราค้นพบสิ่งที่สามารถตอบโจทย์ได้ทั้งสามข้อ สิ่งนั้นก็คือ Ikigai ของเรานั่นเอง
ตัวอย่างเช่น บางคนค้นพบว่าสิ่งที่เขารัก สิ่งที่เขาชอบ และเป็นความปรารถนาของเขาคือการดูแลสัตว์เลี้ยง ซึ่งเขาอาจจะเลือกที่จะมีอาชีพเป็นสัตวแพทย์ หรือคนเลี้ยงสัตว์ตามสวนสัตว์ หรือถ้าไม่สามารถเป็นอาชีพได้ ก็สามารถเลือกที่จะทำเป็นงานจิตอาสาในการดูแลสัตว์ที่ถูกทอดทิ้งในองค์กรพัฒนาเอกชน หรือมูลนิธิต่างๆ ก็ได้
และเมื่อได้ลงมือทำ ก็ทำด้วยความรัก มีความมุ่งมั่นในการทำด้วยความอดทน ถึงจะเจออุปสรรคในระหว่างการทำก็ไม่ย่อท้อ มองว่าเป็นบททดสอบให้เราได้เติบโตเพิ่มมากขึ้น ให้เราได้ค้นพบความสุขที่มากขึ้น มีความใส่ใจกับงานที่ทำ รวมถึงได้พัฒนาตัวเองในเรื่องนั้นๆ ตลอดเวลา เพื่อให้สามารถดูแลสัตว์ได้มากขึ้น ได้ดีขึ้น และหาโอกาสที่จะได้นำความรู้และประสบการณ์ที่ได้ไปต่อยอดพัฒนาเพื่อสังคมต่อไป
กล่าวโดยสรุป Ikigai จึงเป็น “วิถีแห่งความสุข” นั่นเอง เหมือนดั่งเช่นที่ท่านดาไลลามะทรงตรัสไว้ว่า “The very purpose of our existence is to seek Happiness จุดมุ่งหมายของชีวิตเรา คือการแสวงหาความสุข”
กิตติพัทธ์ จิรวัสวงศ์